“ดีเจมะตูม” ถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังมีการเปิดรายชื่อออกมาว่า “โอ๊ต คริษฐ์” สมาชิกวง Axis ติดโควิดจากปาร์ตี้วันเกิด ขณะที่ล่าสุดเพจโฆษก กทม. ได้โพสต์ไทม์ไลน์ฉบับแก้ไขของผู้ป่วยกลุ่มคลัสเตอร์ “ดีเจมะตูม” 3 คน
โลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนักร้องหนุ่ม “โอ๊ต คริษฐ์” สมาชิกวง Axis ที่ล่าสุดต้นสังกัดออกมายอมรับว่าติดโควิด-19 จากการไปร่วมเซอร์ไพรส์วันเกิด “ดีเจมะตูม เตชินท์” ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้บรรดาผู้ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ต่างเข้าไปคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ “ดีเจมะตูม” กันอย่างดุเดือด จนทำให้แฮชแท็ก “ดีเจมะตูม” กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ส่วนใหญ่ชาวเน็ตวิจารณ์กรณี “ดีเจมะตูม” เป็นผู้เปิดเผยไทม์ไลน์ว่าไม่มีดารานักแสดงไปร่วมงานวันเกิด แต่เมื่อพบว่า “โอ๊ต คริษฐ์” ถูกเปิดเผยชื่อว่าติดโควิด-19 จึงทำให้ถูกวิจารณ์หนักขึ้น
นอกจากนี้ ผู้จัดการส่วนตัวของวง Axis ยังยอมรับว่า “โอ๊ต คริษฐ์” ได้เดินทางไปที่โรงแรมบันยันทรี เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อไปพบกับเพื่อนสนิทที่มาร่วมปาร์ตี้วันเกิด “ดีเจมะตูม” แต่ “โอ๊ต คริษฐ์” ไม่ได้เข้าไปในงานดังกล่าว
ขณะที่เฟซบุ๊ก “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง” ของ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้แก้ไขไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 647, 657 และ 658 เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าเป็นคลัสเตอร์เดียวกันกับ “ดีเจมะตูม” โดยพบว่าผู้ป่วยปกปิดข้อมูล ไม่ยอมแจ้งไทม์ไลน์ทั้งหมด จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรายที่ 647 ซึ่งเป็นการแก้ไขไทม์ไลน์จากเดิมที่ไม่ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ช่วงระหว่างวันที่ 14-20 มกราคม 2564 โดยเป็นผู้ป่วยชาย อาชีพนักร้อง นักแสดง (คาดว่าเป็นของ “โอ๊ต คริษฐ์”) และในไทม์ไลน์ระบุไว้ว่า วันที่ 8 มกราคม 2564 ช่วงกลางคืน ได้นำเค้กวันเกิดไปให้เพื่อนที่คอนโดฯ แถวลาดพร้าว เขตจตุจักร (ทราบภายหลังว่าเป็นผู้ป่วยยืนยัน) จากนั้นวันที่ 9 มกราคม ไปโรงแรมบันยันทรี เขตสาทร รับประทานอาหารกับเพื่อน (ทราบภายหลังว่าเป็นผู้ป่วยยืนยัน) ส่วนวันที่ 10-11 มกราคม ตลอดทั้งวันอาศัยในที่พักเขตห้วยขวาง ก่อนเริ่มมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ มีน้ำมูก จากนั้นได้พักอาศัยในที่พัก ตั้งแต่วันที่ 14-19 มกราคม จนวันที่ 20 มกราคม ได้เดินทางไปตรวจโควิดที่โรงพยาบาล จนทราบผลว่าติดโควิด-19 ในวันที่ 22 มกราคม
อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตที่ติดตามข้อมูลในเพจเฟซบุ๊กของโฆษก กทม. ได้แสดงความเห็นว่า ให้มีการตรวจสอบไทม์ไลน์ว่าจริงเท็จอย่างไร เพราะผู้ป่วยคนดังกล่าวอ้างว่าอาศัยในที่พัก ตั้งแต่วันที่ 14-19 มกราคม รวมถึงให้ตรวจสอบอย่างละเอียดในไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายที่ 657 และ 658 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาเช่นกัน เพราะในรายที่ 657 ปรากฏว่า ในวันที่ 16 มกราคม ข้อมูลไม่ตรงกัน