ม้าโคราชตายแล้ว146ตัว 13ตัวอาการน่าเป็นห่วง ปศุสัตว์เผยไม่มีวัคซีนรักษา
.
ที่จ.นครราชสีมา นายพศวีร์ สมใจ ปศสุตว์จังหวัดครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีเกิดการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าครั้งแรก ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่า ขณะนี้ มีม้าในจังหวัดนครราชสีมา ตายด้วยโรคดังกล่าวไปแล้ว 146 ตัว และยังมีม้าป่วยอีก 13 ตัว ในอำเอปากช่อง ส่วนอำเภออื่นๆ ยังไม่มีรายงานเข้ามา ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ให้ทั้งจังหวัดฯ ดำเนินมาตรการเข้มห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์จำพวกม้าออกนอกพื้นที่ดูแล และตั้งจุดตรวจ 5 จุด บล็อกเส้นทางเคลื่อนย้ายม้า ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์ฯ ที่อำเภอปากช่อง ซึ่งจะมีหน่วยลาดตระเวนออกตรวจแต่ละฟาร์มอย่างเข้มข้น และมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ คอยรับแจ้งเหตุและออกไปตรวจสอบ หากมีกรณีสงสัยว่า ม้าจะป่วยเป็นกาฬโรคแอฟริกาในม้า
.
ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมา มีฟาร์มม้าทั้งหมด 110 ฟาร์ม มีประชากรม้า รวมจำนวน 1,455 ตัว โดยอยู่ในฟาร์มเลี้ยงที่ อำเภอปากช่อง ราว 1,002 ตัว ,อำเภอเมืองนครราชสีมา 368 ตัว และอำเภออื่นๆ อีก 85 ตัว ซึ่งทุกฟาร์มตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ 46 ฟาร์มในอำเภอปากช่อง ขณะนี้เร่งดำเนินการมาตรการป้องกันด้วยการกางมุ้งให้ม้าเกือบ 100 % แล้ว นอกจากนี้ ยังหยุดเคลื่อนย้ายม้าเข้าออกโดยเด็ดขาด และมีการฉีดพ่นไล่แมลง ทายากันแมลงให้ม้า กับหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน ส่วนฟาร์มที่มีม้าป่วยตายจะเพิ่มมาตรการพ่นยาฆ่าเชื้อโรคด้วยทุกวัน เพื่อไม่ให้เชื้อกาฬโรคแอฟริกาในม้าแพร่ระบาดออกไป ขณะที่ฟาร์มม้าในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอได้เข้าไปสร้างการรับรู้ให้กับเจ้าของฟาร์มและผู้ดูแลม้า เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคแล้ว และกำลังเร่งดำเนินมาตรการกั้นคอกกางมุ้ง กำจัดแมลงดูดเลือดทุกชนิด เพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำโรคระบาดม้าเข้ามาในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้พยายามไปเก็บตัวอย่างเลือดในม้า ลา ล่อ และลามะ ในสวนสัตว์นครราชสีมาด้วย เพื่อหาสารพันธุกรรมและตรวจหาเชื้อว่าเกิดจากอะไร ซึ่งต้องใช้เวลาสอบสวนหาสาเหตุอย่างละเอียดก่อนว่าเกิดการระบาดจากเชื้อโรคสายพันธุ์อะไร เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดในประเทศไทย ยังไม่มีวัคซีนรักษาเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันที่เข้มข้นเพื่อหยุดโรค ถ้าพบม้ามีอาการผิดปกติ แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว ก็จะสามารถควบคุมโรคได้เร็วขึ้น ส่วนม้าที่ป่วยตายแล้ว อย่าผ่าพิสูจน์เอง ขอให้รีบฝังกลบให้ลึก ปูนขาวโรยทับ อย่าปล่อยซากทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ หากเจ้าของฟาร์ม และผู้ดูแลม้า ให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เชื่อว่า จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อกาฬโรคแอฟริกาในม้าได้ในที่สุด